วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีการกำเนิดไฟฟ้า

ไฟฟ้าเกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน ซึ่งอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่จะเป็นอิเล็กตรอนวงนอกสุดที่สามารถหลุดเป็นอิสระและเคลื่อนที่เมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ อิเล็กตรอนวงนอกสุดจะหลุดเป็นอิสระได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับโครงสร้างของอะตอมของสสารแต่ละชนิดซึ่งมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน
วิธีการที่จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดเป็นอิสระหรือทำให้เกิดไฟฟ้ามีอยู่หลายวิธีดังนี้
1. การเสียดสี เมื่อนำวัตถุ 2 ชนิดมาถูกัน เช่น ขนสัตว์กับแท่งแก้ว หรือเมื่อเราใช้หวีสางผม ไฟฟ้าที่เกิดจากการเสียดสีนี้จะเป็นฟ้าสถิต ซึ่งเกิดจากการถ่ายเทอิเล็กตรอนจากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่ง ไฟฟ้าสถิตจะเกิดขึ้นชั่วครั้งคราวแล้วจะหมดไป
2. ปฏิกิริยาทางเคมี สารเคมีบางชนิดทำปฎิกริยากับโลหะบางชนิด จะทำให้เกิดการถ่ายเทอิเล็กตรอนขึ้น เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย
3. แรงกดอัด เมื่อออกแรงกดอัดกับสารบางชนิด แรงกดจะผ่านเนื้อสารเข้าถึงอะตอมและไล่อิเล็กตรอนให้หลุดเป็นอิสระและเคลื่อนที่ เช่น ไมโครโฟน (เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า)
4. ความร้อน เนื่องจากสารบางชนิดมีคุณสมบัติเป็นตัวรับอิเล็กตรอนบางชนิดเป็นตัวให้อิเล็กตรอนถ้าเรานำโลหะต่างชนิดกันที่ให้และรับอิเล็กตรอนมาเชื่อมต่อกันเมื่อเราให้ความร้อนกับโลหะต่างชนิดกันที่นำมาเชื่อมต่อกันโลหะสองชนิดจะไวต่อความร้อนไม่เท่ากันทำให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ได้ ไฟฟ้าที่ได้จากวิธีนี้จะมีจำนวนน้อยมาก
5. แสง แสงเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ประกอบขึ้นจากอนุภาคพลังงานเล็กๆ ที่เรียกว่า โฟตอน เมื่อโฟตอนในลำแสงกระทบวัตถุบางชนิดมันจะคายพลังงานออกมาสามารถทำให้อะตอมปล่อยอิเล็กตรอนออกมาได้ สารพวกนี้ได้แก่ ลิเธียม เยอรมันเนียม แคดเมี่ยม
6. แม่เหล็ก เมื่อตัวนำเคลื่อนที่ตัดกับสนามแม่เหล็กจะทำให้เกิดไฟฟ้าขึ้นที่ตัวนำ วิธีการนี้จะทำให้เกิดไฟฟ้าได้มากที่สุด